พระปรมาภิไธย แปลว่า ชื่ออันประเสริฐยิ่ง หมายถึง พระนามของพระมหากษัตริย์ราชเจ้า ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ* หลังจากที่ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 1 และใช้มาจนถึงพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน

ชื่อของพระมหากษัตริย์ราชเจ้า

ลำดับการถวายพระปรมาภิไธย

โดยพระมหากษัตริย์จะทรงโปรดให้เฉลิมพระปรมาภิไธยแด่พระองค์เอง และทรงเฉลิมพระปรมาภิไธย ถวายแด่ สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช โดยรัชกาลเลขคี่จะใช้คำว่า “ปรมินทร” ส่วนรัชกาลเลขคู่จะใช้คำว่า “ปรเมนทร” ซึ่งเป็นพระราชนิยมที่เริ่มใช้ในรัชกาลที่ 4 ดังนี้

รัชกาลที่ 1: พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจักรีบรมนาถฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

รัชกาลที่ 2: พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอิศรสุนทรฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย

รัชกาลที่ 3: พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาเจษฎาบดินทร์ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 4: พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 5: พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 6: พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 7: พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 8: พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ พระอัฐมรามาธิบดินทร

รัชกาลที่ 9: พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ บรมนาถบพิตร

รัชกาลทึ่ 10: สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรฯ //ยังมิได้ประกอบ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ซ้าย อักษรพระปรมาภิไธยย่อ มปร ในตราสัญลักษณ์ ครบ 200 ปี แห่งการพระบรมราชสมภพ , ขวา ตราสัญลักษณ์พระปรมาภิไธยย่อ ภปร

ชื่อย่อ 3 ตัวอักษร

พระปรมาภิไธยย่อ คือ การย่อพระปรมาภิไธยให้เหลือเพียง 3 ตัวอักษร โดยส่วนมาก มักใช้เป็น ตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ และ ตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธี และงานเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสสำคัญต่าง ๆ ดังนี้

รัชกาลที่-พระนามย่อ-พระนามเต็ม

ร.1 จปร – มหาจักรีบรมนาถ ปรมราชาธิราช

ร.2 อปร – มหาอิศรสุนทร ปรมราชาธิราช

ร.3 จปร – มหาเจษฎาบดินทร ปรมราชาธิราช

ร.4 มปร – มหามงกุฎ ปรมราชาธิราช

ร.5 จปร – มหาจุฬาลงกรณ์ ปรมราชาธิราช

ร.6 วปร – มหาวชิราวุธ ปรมราชาธิราช

ร.7 ปปร – มหาประชาธิปก ปรมราชาธิราช

ร.8 อปร – มหาอานันทมหิดล ปรมราชาธิราช

ร.9 ภปร – มหาภูมิพลอดุลยเดช ปรมราชาธิราช

ร.10 วปร – มหาวชิราลงกรณ ปรมราชาธิราช

**โดยพระปรมาภิไธยของบางพระองค์จะซ้ำกัน ดังนั้น เพื่อให้ทราบว่าเป็นรัชกาลใด เมื่อประดิษฐ์เป็นตรา ผู้ประดิษฐ์ตรา จะเขียนหมายเลขประจำรัชกาลไว้ ระหว่างพระจอนของพระมหาพิชัยมงกุฎ หรือถ้าเขียนเป็นข้อความ อาจมีเลขประจำรัชกาลต่อท้าย

ซ้าย อักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภปร ในตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 , ขวา ลายพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ‘ภูมิพลอดุลยเดช ปร’

การเซ็นชื่อ

การทรงลงพระปรมาภิไธยในเอกสารสำคัญต่างๆ ของทางราชการ มีรูปแบบของแต่ละรัชกาล ดังนี้

รัชกาลที่ 1: จักรีบรมนาถ ป.ร.

รัชกาลที่ 2: อิศรสุนทร ป.ร.

รัชกาลที่ 3: เจษฎาบดินทร ป.ร.

รัชกาลที่ 4: มงกุฎ ป.ร. หรือ สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎฯ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม

รัชกาลที่ 5: จุฬาลงกรณ์ ป.ร. หรือ สยามมินทร์

รัชกาลที่ 6: วชิราวุธ ป.ร. หรือ ราม วชิราวุธ หรือ ราม ร

รัชกาลที่ 7: ประชาธิปก ป.ร.

รัชกาลที่ 8: อานันทมหิดล ป.ร.

รัชกาลที่ 9: ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

รัชกาลทึ่ 10: วชิราลงกรณ ป.ร.

ความรู้เพิ่มเติม

พระบรมนามาภิไธย หมายถึง พระนามเดิมของพระมหากษัตริย์ ก่อนจะเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ

 

ซ้าย ตราสัญลักษณ์พระปรมาภิไธยย่อ วปร , ขวา อักษรพระปรมาภิไธยย่อ จปร ในตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนวัดบวรนิเวศ

ตราประจำพระองค์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5

ตราพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตราพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

การเฉลิมพระยศเจ้านาย

ประเพณีการเฉลิมพระยศ เจ้านายแต่โบราณ ถือเอาการสองอย่างเป็นหลัก คือ การอภิเษกอย่างหนึ่ง และ การจารึกพระสุพรรณบัฎอย่างหนึ่ง

การอภิเษก คือ ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง(คือพระเจ้าแผ่นดิน) รดน้ำให้บนศีรษะ คือ สัญลักษณ์ของการมอบหมายทั้งยศและหน้าที่

*พระสุพรรณบัฎ คือ แผ่นทองจารึกพระนามของเจ้านายพระองค์นั้น และจะพระราชทานจากพระหัตถ์ ให้แก่เจ้านายที่ได้รับการเฉลิมพระยศ

การเฉลิมพระยศเจ้านายนั้น ถือเอาการ จารึกพระสุพรรณบัฏ เป็นสำคัญ โดยจะต้องทำพิธีสำคัญดังต่อไปนี้

  • ต้องหาวันฤกษ์งามยามดีที่จะจารึก
  • ต้องทำพิธีจารึกในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
  • ต้องมีสมณะและพราหมณ์พร้อมกันอวยชัยในพิธี
  • ต้องประชุมเสนาบดีนั่งเป็นสักขีพยาน

ในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากทรงยกเลิกระบบไพร่แล้ว การ “ทรงกรม” ของเจ้านาย จึงเป็นเพียงแต่การให้พระเกียรติยศ แก่เจ้านายพระองค์นั้น แต่ไม่มีไพร่สังกัดกรมแต่อย่างใด ส่วนพระนามของเจ้านายที่ทรงกรมได้แบบธรรมเนียมมาจากยุโรป โดยทรงตั้งพระนามเจ้านายที่ทรงกรมตามชื่อเมืองต่าง ๆ เช่น สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ หรือ สมเด็จเจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ เป็นต้น

เจ้านายที่ทรงกรมพระองค์ล่าสุด คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 ในการบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ 6 รอบ (72 พรรษา) แต่ไม่มีประเพณี เจ้ากรม ปลัดกรม ตามโบราณ เนื่องจากไทยได้ยกเลิกระบบไพร่ซึ่งสังกัดกรมเจ้านายไปแล้วรัชกาลที่ 5 และเลิกบรรดาศักดิ์ของขุนนางไปแล้วในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ที่มา สำนักราชเลขาธิการ , พระปรมาภิไธย (พระมหากษัตริย์ไทย) , การเฉลิมพระยศเจ้านาย , พิธีราชาภิเษก เรียบเรียงโดย Campus-Star.com

ปัจจุบัน สำนักราชเลขาธิการมีภารกิจหลักเกี่ยวกับงานหนังสือที่หน่วยราชการหน่วยงานเอกชนและบุคคลทั่วไป ส่งเข้ามาเพื่อขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาต พระบรมราชวินิจฉัย และพระมหากรุณา แล้วแต่กรณีรวมทั้งทำหน้าที่รับพระราชทานพระราชดำริ และพระราชดำรัสเพื่อเชิญไปยังหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องจะเห็นได้ว่า สำนักราชเลขาธิการมีบทบาทเป็นผู้ประสานงานระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาล และหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนบุคคลทั่วไป ทั้งที่เป็นราชการแผ่นดินและการส่วนพระองค์

** เนื่องจากเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจในบทความ ทางผู้เขียนจึงขอแทรกคำสามัญเพื่อให้เข้าใจง่าย ไม่ได้มีเจตรนาจะลดพระเกียรติของทุกพระองค์ หากผิดพลาดประการใด ผู้เขียน ขออภัยไว้ ณ ที่นี้


ปรับปรุงข้อมูล 10/11/2560 14:02:24
, จำนวนการเข้าดู 7977