พระมหาพิชัยราชรถ เป็นราชรถที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2338 เมื่อแรกสร้างนั้นโปรดให้สร้างขึ้น เป็นราชรถขนาดใหญ่ตามโบราณราชประเพณี ที่เคยมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เพื่อเชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกออกถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง ในปี พ.ศ. 2339 หลังจากนั้นเมื่อสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี สิ้นพระชนม์ ในปี พ.ศ. 2342 ก็โปรดให้อัญเชิญพระโกศทรงบนพระมหาพิชัยราชรถออกพระเมรุอีกครั้ง และนับจากนั้นพระมหาพิชัยราชรถเชิญพระโกศพระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินี และพระบรมวงศ์ผู้ทรงศักดิ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าในสมัยต่อๆ มา

พระมหาพิชัยราชรถ

พระมหาพิชัยราชรถ เป็นราชรถที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ

พระมหาพิชัยราชรถ ใช้ทรงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก เป็นพระองค์แรก และทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นพระองค์ล่าสุด จนถึงปัจจุบัน ได้มีการเชิญพระมหาพิชัยราชรถในงานพระบรมศพและพระศพต่างๆ แล้วจำนวน 24 ครั้ง (ไม่นับครั้งที่เชิญพระเวชยันตราชรถใช้งานแต่ให้ออกนามว่าพระมหาพิชัยราชรถในหมายกำหนดการ)

นอกจากนี้ พระมหาพิชัยราชรถยังเคยใช้เชิญพระโกศประกอบพระอิสริยยศของพระราชวงศ์ที่พระศพไม่ได้ประทับในพระโกศอีกด้วย

พระมหาพิชัยราชรถออกใช้งานครั้งล่าสุดในการเชิญพระบรมโกศประกอบพระบรมราชอิสริยยศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในปี พ.ศ. 2560

พระมหาพิชัยราชรถ มีขนาดกว้าง 4.85 เมตร ความยาวรวมงอนรถ 18.00 เมตร (ความยาวเฉพาะตัวรถ 14.10 เมตร) สูง 11.20 เมตร น้ำหนัก 13.70 ตัน ปัจจุบันใช้กำลังพลฉุดชักจากกรมสรรพาวุธทหารบก 216 นาย

ภายหลังการเชิญออกประดิษฐานพระโกศพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้ว ก็มิได้เชิญออก แม้จะมีการบูรณปฏิสังขรณ์ด้วยการเพิ่มล้ออีก 1 ล้อ เพื่อรับน้ำหนัก และซ่อมแซมเพื่อความสวยงาม โดยมีการเชิญพระเวชยันตราชรถออกใช้การแทน แต่ให้ขนานนามราชรถตามหมายกำหนดการว่า พระมหาพิชัยราชรถ

จนกระทั่งในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในปี พ.ศ. 2539 จึงได้มีการบูรณะพระมหาพิชัยราชรถครั้งใหญ่โดยกรมสรรพาวุธทหารบกและเชิญออกใช้การอีกครั้งหนึ่ง

พระที่นั่งราเชนทรยาน

พระที่นั่งราเชนทรยาน เป็นพระราชยานที่สร้างขึ้น มีลักษณะเป็นทรงบุษบกย่อมุมไม้สิบสอง หลังคาซ้อน 5 ชั้น สร้างด้วยไม้ แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก พนักพิงและกระจังปฏิญาณแกะสลักเป็นภาพเทพนมไว้ตรงกลาง และมีรูปครุฑยุดนาคประดับที่ฐาน มีคานสำหรับหาม 4 คาน ใช้คนหาม 56 คน แต่เวลาปกติจะคงคานประจำไว้ 2 คาน

ใช้ในการเสด็จพระราชดำเนิน โดยขบวนแห่อย่างใหญ่ที่เรียกว่า “ขบวนสี่สาย” เช่น ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะเสด็จพระราชดำเนินจากพระราชมณเฑียรไปถวายสักการะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนี้ ยังใช้ในการเชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี และพระอัฐิพระบรมวงศ์ จากพระเมรุมาศ พระเมรุ ท้องสนามหลวง ไปยังพระบรมมหาราชวังอีกด้วย

พระราชยาน ที่ใช้ประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิ

ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วที่ 4 เชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระที่นั่งราเชนทรยาน จากพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง

ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วที่ 5 เชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระที่นั่งราเชนทรยาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมานบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

*หมายเหตุ : พระที่นั่งราเชนทรยาน เป็นพระราชยานที่ใช้ประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิ ในขบวนพระบรมราชอิสสริยยศ ริ้วที่ 4 และริ้วที่ 5 ซึ่งเป็นพระที่นั่งองค์เดียวกัน

จาก หนังสือคำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

ที่มา www.kingrama9.th/Honor/Detail/9 , www.kingrama9.th/Honor/Detail/11

ภาพจาก www.facebook.com/Mthainews , ซ้อมย่อยริ้วขบวนพระราชอิสริยยศฯ สถานที่จริงวันแรก


ปรับปรุงข้อมูล 10/11/2560 13:59:35
, จำนวนการเข้าดู 459