* ผู้มีสิทธิ์ได้รับพระราชทานน้ำหลวง  เพลิงหลวง และหีบ

* เอกสารประกอบการขอพระราชทานเพลิงศพ

* ระเบียบการขอรับหีบเพลิงพระราชทาน

* ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับพระราชทานหีบเพลิงไปพระราชทานยังต่างจังหวัด

(ระยะทางห่างจากสำนักพระราชวังเกิน 50 กิโลเมตร)

 

-------------------------------------------------------------------------------------------------

*ผู้มีสิทธิ์ได้รับพระราชทานน้ำหลวง เพลิงหลวง และหีบ

1. พระสมณศักดิ์ ตั้งแต่ชั้น  "พระครูสัญญาบัตร" ขึ้นไป
2. พระราชวงศ์ ตั้งแต่ชั้น  "หม่อมเจ้า" ขึ้นไป
3. ผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์
4. ข้าราชการฝ่ายพลเรือนสามัญชั้นตรีขึ้นไป
5. ข้าราชการฝ่ายทหาร  ตำรวจ ยศชั้นร้อยตรีขึ้นไป
6. พนักงานเทศบาลตรีขึ้นไป
7. ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตั้งแต่  "เบญจมาภรณ์มงกุฏไทย" (บ.ม.) ขึ้นไป
8. ผู้มีเกียรติที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์  "จุลจอมเกล้า" (จ.จ.) หรือ "ตราสืบตระกูล" (ต.จ.) ขึ้นไป
9 .ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญ  "รัตนาภรณ์" รัชกาลปัจจุบัน
10.สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ  สมาชิกสภาจังหวัด  สมาชิกสภาเทศบาล
     ที่ถึงแก่กรรมในขณะดำรงตำแหน่ง
11.รัฐมนตรี ถึงแก่อนิจกรรมในขณะดำรงตำแหน่ง
12.ผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นกรณีพิเศษ

หมายเหตุ  :  บุคคลผู้ทำลายชีพตนเอง ไม่พระราชทานเพลิงศพ และเครื่องประกอบเกียรติยศ

เอกสารประกอบการขอพระราชทานเพลิงศพ

1. สำเนาใบมรณะบัตร จำนวน 2 ฉบับ
2. สำเนาประกาศการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ของผู้ตายในราชกิจจานุเบกษา
   หรือสำเนาประกาศนียบัตรกำกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของผู้ตาย จำนวน 2 ฉบับ
3. สำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือบัตรข้าราชการบำนาญ หรือบัตรประชาชนของผู้ตาย จำนวน 2 ฉบับ
4. สำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือบัตรประชาชนของผู้ขอ จำนวน 2 ฉบับ
5. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ขอ จำนวน 2 ฉบับ
6. สำนเนาทะเบียนบ้านของผู้ตาย จำนวน 2 ฉบับ   

ระเบียบการขอรับหีบเพลิงพระราชทาน 

  เนื่องจากปัจจุบันนั้น มีผู้ขอพระราชทานเพลิงศพเป็นจำนวนมาก เลขาธิการพระราชวังได้มีบัญชาว่า เพลิงที่พระราช ทานไป เผาศพ ณ วัดที่อยู่ต่างจังหวัดหรือปริมณฑล    ซึ่งห่างจากพระบรมมหาราชวังนอกรัศมี 50 ก.ม. ให้จัดเป็นหีบเพลิงพระราชทาน มอบเจ้าภาพเชิญ ไปดำเนินการเอง   โดยไม่มีเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังไปปฏิบัติ ดังนั้น กองพระราชพิธีจึงได้กำหนดระเบียบการขอรับหีบเพลิงพระราชทาน ดังนี้

     1. ให้เจ้าภาพศพหรือผู้แทนเจ้าภาพ ไปติดต่อขอรับหีบเพลิงพระราชทาน ที่กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง

     2. กรณีที่เจ้าภาพไม่สามารถไปรับหีบเพลิงพราะราชทานด้วยตนเองจะมอบให้ผู้อื่นไปรับแทนก็ได้ โดยนำต้นเรื่องหนังสือมอบฉันทะและสำเนาบัตรประจำตัวผู้แทนไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่

 

     3. เจ้าภาพหรือผู้แทน ควรไปรับหีบเพลิงก่อนกำหนดวันพระราชทานเพลิงอย่างน้อย 3 วัน

     4. ผู้ที่มารับหีบเพลิงควรแต่งกายสุภาพ

     5. ให้รับหีบเพลิงพระราชทานที่โต๊ะหมู่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์

หมายเหตุ :

     1. เลขาธิการพระราชวัง มีคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเชิญหีบเพลิงพระราชทานไปปฏิบัติโดยเด็ดขาด

ดังนั้น เจ้าภาพจะต้องเป็นผู้ดำเนินการจัดการหีบเพลิงพระราชทานเอง

     2. ห้ามเปิด หรือบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ในการพระราชทานเพลิงศพ เมื่อเจ้าภาพเชิญหีบเพลิงพระราชทานไปถึงมณฑลพิธี

ข้อการปฏิบัติเกี่ยวกับพระราชทานหีบเพลิง ไปพระราชทานยังต่างจังหวัด
(ระยะทางห่างจากสำนักพระราชวังเกิน 50 กิโลเมตร)

ตามระเบียบที่สำนักพระราชวังได้วางไว้ เมื่อกระทรวงเจ้าสังกัด ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าภาพ แล้วแต่กรณี ได้มีหนังสือแจ้งมายังสำนักพระราชวัง เพื่อขอพระราชทานเพลิงศพ หากศพนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับพระราชทานเพลิงศพ สำนักพระราชวังจะได้มีหนังสือแจ้งให้เจ้าภาพศพ เพื่อทราบ

      จากนั้นเจ้าภาพศพ หรือเจ้าหน้าที่ของจังหวัดแล้วแต่กรณีให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปขอรับหีบเพลิงพระราชทานได้ที่ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง เมื่อได้รับหีบเพลิงพระราชทานไปแล้ว ต้องปฏิบัติตามลำดับขั้นตอนดังนี้

     1. เชิญหีบเพลิงพระราชทานไปวางที่ศาลากลางจังหวัด อำเภอ หรือหน่วยราชการที่สังกัดในท้องที่ หรือที่บ้านเจ้าภาพแล้วแต่
กรณี โดยตั้งไว้ในที่อันสมควร   และควรมีพานรองรับหีบเพลิงพระราชทานนั้นด้วย

     2. เมื่อถึงกำหนดวันที่ขอพระราชทานเพลิงศพ ทางจังหวัด อำเภอ หรือเจ้าภาพแล้วแต่กรณี จะต้องจัดเจ้าหน้าที่แต่งเครื่องแบบปกติขาว ไว้ทุกข์ เพื่อเชิญหีบเพลิงพระราชทานพร้อมด้วยพานรอง (หนึ่งหีบต่อหนึ่งคน) ไปยังเมรุที่จะประกอบพิธี และก่อนที่จะเชิญขึ้นไปตั้งบนเมรุนั้น ควรยกศพขึ้นตั้งเมรุให้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วจึงเชิญพานหีบเพลิงพระราชทานขึ้นไปตั้งไว้บนโต๊ะทางด้านศรีษะศพ (บนโต๊ะที่ตั้งหีบเพลิงพระราชทานจะต้องมีผ้าปูให้เรียบร้อย แล้วห้ามมิให้นำสิ่งหนึ่งสิ่งใดวางร่วมอยู่ด้วยเป็นอันขาด)เมื่อเชิญพานหีบเพลิงพระราชทานวางเรียบร้อยแล้ว ให้ผู้เชิญคำนับเคารพศพหนึ่งครั้ง แล้วจึงลงจากเมรุ

     3. ขณะที่เชิญพานหีบเพลิงพระราชทานไปนั้น เจ้าหน้าที่ผู้เชิญจะต้องระมัดระวังกิริยามารยาท โดยอยู่ในอาการสำรวม ไม่พูดคุยกับผู้ใด และไม่ต้องทำความเคารพผู้ใด และไม่เชิญหีบเพลิงพระราชทานเดินตามหลังผู้หนึ่งผู้ใดเป็นอันขาด

     4. ระหว่างที่เจ้าหน้าที่เชิญหีบเพลิงพระราชทานเดินไปสู่เมรุนั้น ประชาชนที่ร่วมงานควรนั่งอยู่ในความสงบ โดยมิต้องยืนขึ้น ไม่ต้องทำความเคารพ และไม่มีการบรรเลงเพลงอย่างใดทั้งสิ้น เพราะยังไม่ถึงขั้นตอนของพิธีการ เจ้าหน้าที่ผู้เชิญก็มิใช่ผู้แทนพระองค์เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย

     5. ผู้ที่ตั้งแถวรอรับการเชิญหีบเพลิงพระาชทานเดินไปสู่เมรุ ควรเป็นเจ้าภาพงาน การแต่งกาย ควรแต่งเครื่องแบบไว้ทุกข์ตามประเพณีนิยม ในกรณีที่เป็นข้าราชการแต่งกายเครื่องแบบปกติขาวไว้ทุกข์
          ผู้ที่ไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ ทั้งประชาชน และข้าราชการ รวมทั้งพนักงาน ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ควรแต่งกายไว้ทุกข์ตามประเพณีนิยม ส่วนบุตรหลาน หรือญาติ รวมทั้งผู้ที่เคารพนับถือผู้วายชนม์ ที่รับราชการจะแต่งกายเครื่องแบบปกติขาวไว้ทุกข์ ก็จะเป็นกียรติแก่ผู้วายชนม์ และยังนับว่าเป็นการถวายพระเกียรติ

     6. เมื่อถึงกำหนดเวลาพระราชทานเพลิง ให้เจ้าภาพเชิญแขกมีอาวุโสสูงสุดในที่นั้น ขึ้นเป็นประธานประกอบพิธีพระราชเพลิง (ผู้มีอาวุโสสูงสุดนั้น หมายถึง อาวุโสทั้งด้านคุณวุฒิ และด้านวัยวุฒิ ทั้งนี้ หากมีพระราชวงศ์ ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป หรือราชสกุลที่มีเกียรติในราชการ ซึ่งผู้วายชนม์หรือ ทายาทอยู่ใต้บังคับบัญชา หรือเป็นผู้ที่เคารพนับถือ สมควรเชิญบุคคลนั้นเป็นประธาน)

     7. ในระยะเวลาก่อนเจ้าภาพเชิญผู้มีอาวุโสสูงสุดขึ้นเป็นประธานประกอบพิธีพระราชทานเพลิงนั้น ให้เจ้าหน้าที่ผู้เชิญหีบเพลิงพระราชทานขึ้นไปรออยู่ ณ โต๊ะวางหีบเพลิงพระราชทานบนเมรุก่อน เมื่อผู้เป็นประธานทอดผ้าไตรบังสุกุล พระภิกษุได้ชักผ้าบังสุกุลแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ผู้เชิญหีบเพลิงพระราชทานแก้ห่อหีบเพลิงพระราชทานออก จากนั้น ผู้เป็นประธานปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้

·         เปิดฝาหีบเพลิงพระราชทาน

·         หยิบเทียนชนวนในหีบเพลิงพระราชทาน มอบให้เจ้าหน้าที่ผู้เชิญถือไว้

·         หยิบกลักไม้ขีดในหีบเพลิงพระราชทาน จุดไฟต่อเทียนชนวนที่เจ้าหน้าที่ผู้เชิญถือไว้ รอจนเทียนลุกไหม้ดีแล้ว

·         ถวายบังคม (ไหว้) หนึ่งครั้ง ก่อนหยิบรูป ดอกไม้จันทน์ และเทียนพระราชทาน (จำนวน 1 ชุด) ในหีบเพลิงพระราชทาน จุดไฟหลวงจากเทียนชนวนแล้ววางไว้ใต้กลางฐานที่ตั้งศพ จากนั้นก้าวถอยหลังหนึ่งก้าว คำนับเคารพศพหนึ่งครั้ง แล้วลงจากเมรุ เป็นอันเสร็จพิธี

      8. ในกรณีที่มีการอ่านหมายรับสั่ง ประวัติผู้วายชนม์สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ควรอ่านตามลำดับดังนี้

·         หมายรับสั่ง แสดงถึงการได้รับพระราชทานเพลิงศพ

·         ประวัติผู้วายชนม์ เพื่อประกาศเกียรติคุณ

·         สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

หมายเหตุ  :


     1.สำหรับศพที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานผ้าไตรทอดถวายพระบังสุกุลด้วยนั้น  ผู้เป็นประธานต้องถวายบังคม
(ไหว้) หนึ่งครั้ง ก่อนหยิบผ้าจากเจ้าหน้าที่ผู้เชิญ แล้วทอดผ้าตามพิธีต่อไป
     2. การอ่านหมายรับสั่ง ประวัติผู้วายชนม์ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณนั้น เป็นขั้นตอนที่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตามความเหมาะสม
     3. ในกรณีที่เจ้าภาพประสงค์ให้มีการอ่าน หมายรับสั่ง เพื่อแสดงถึงการได้รับพระราชทานเพลิงศพ (ในกรณีที่ได้รับหมายรับสั่ง ถ้ายังไม่ได้รับหมายรับสั่ง ก็ไม่ต้องอ่าน) ประวัติผู้วายชนม์ เพื่อประกาศเกียรติคุณ และคำสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในงานพระราชทานเพลิงศพนั้น ให้อ่านเรียงลำดับตามที่กล่าวมา ทั้งนี้หากจะอ่านเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ หรือไม่อ่านเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับความประสงค์ และความสะดวกของเจ้าภาพเป็นสำคัญ ส่วนการลงท้ายคำอ่านสามารถอ่านชื่อบุคคลผู้เป็นทายาททั้งหมด หรือจะออกชื่อแต่เจ้าภาพก็ย่อมกระทำได

 


ปรับปรุงข้อมูล 6/3/2560 12:30:40
, จำนวนการเข้าดู 335